top of page

ท่องเที่ยวชุมชนจะเกิดไหม...???


 

ท่องเที่ยวชุมชนจะเกิดไหม...???

หลายปีที่ผ่านมารัฐพยามที่จะให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน โดยใช้ชื่อว่า โครงการชุมชนนวัตวิถี ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีถ้าเกิดขึ้นได้จริง เพราะการท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถทำรายได้ให้แก่ประเทศ และถ้าสามารถดึงรายได้เหล่านี้ลงไปยังชุมชนได้ก็ยิ่งจะเป็นการดียิ่งขึ้น แต่เท่าที่ดูมันเหมือนจะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำมากกว่า เพราะหลังจากจบโครงการดูเหมือนว่าโครงการน้ำจะจบชีวิตลงไปด้วย แต่ก็มีเพียงส่วนน้อยที่สามารถต่อยอดไปได้ ผมได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการเข้าไปดำเนินโครงการนี้บางส่วน ผมมองว่ามันก็เป็นโอกาสหนึ่งของชุมชนที่จะได้พัฒนาชุมชนตนเอง และได้ช่วยผลักดันส่งเสริมอย่างเต็มที่เพราะอยากให้ชุมชนได้เกิดอาชีพ เกิดรายได้ แต่ก็ได้พบอุปสรรคต่างๆมากมาย ซึ่งพอจะสรุปได้ ประเด็น ดังนี้

1 ความพร้อมของชุมชน ชุมชนต้องมีความรู้ ความเข้าใจโครงการอย่างแท้จริง ว่าชุมชนต้องทำอะไร เพื่ออะไร ทำอย่างไร มีอะไรที่ต้องลงทุน ชุมชนได้ประโยชน์อะไร นับว่าเป็นเรื่องสำคัญเบื้องต้น รวมทั้งความร่วมมือของชุมชน อย่างจริงใจ ไม่คิดผลประโยชน์แอบแฝงจากบางคนในชุมชนที่คอยฉุด คอยดึง และต้องยอมรับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในชุมชน มาให้ความสนใจ เรียนรู้สิ่งใหม่ไปด้วยกันทั้งชุมชน ความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลายก็จะตามมา

2 ต้นทุนในชุมชน การมองหาต้นทุน นี่คือประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และจะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เพียงแต่ชุมชนรู้จักการนำไปต่อยอดเท่านั้น แต่หลายชุมชนมีต้นทุนน้อย หรือไม่มีเลย ไม่รู้แม้กระทั้งชุมชนตนเองมีอะไรดี หรือรู้แต้รู้เพียงในกรอบของตนเอง ไม่สามารถนำไปต่อยอดหรือสร้างมูลค่าในสิ่งที่ตนเองมีได้ ส่วนชุมชนที่มีต้นทุนน้อยหรือไม่มีเลยนับว่าเป็นเรื่องใหญ่และนักใจไม่น้อย ต้องมองหาศักยภาพของคนในชุมชนและดึงเอาศักยภาพนั้นออกมาให้ได้ ชี้ให้เห็นว่าตนเองมีดีอะไร จะต้องเริ่มต้นทำอย่างไร และต้องทำอะไรต่อไป

3 การอบรมคนในชุมชน การให้ความรู้แก่คนในชุมชนมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคนในชุมชนให้มีความรู้เพิ่มขึ้น ในปัจจุบันภาครัฐได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้พอสมควร มีการอบรมให้แก่ชุมชนมากมายจนทำให้คนในชุมชนจนไม้รู้จะทำอะไรก่อนอะไรหลัง อบรมมากจนจำอะไรไม่ได้ ในที่สุดก็ไม่ทำอะไรเลย อีกส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือวิทยากรที่มาให้การอบรม บางหน่วยงานไม่ได้ให้ความสำคัญด้านนี้เลย เพียงแต่จัดอบรมไปให้จบๆ ใช้เงินโครงการให้หมดไปเท่านั้น แทนที่จะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงกับชุมชน และสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เรื่องที่นำมาอบรมควรศึกษาให้เหมาะสมกับต้นทุนท้องถิ่นที่มีอยู่ ความรู้ความสามารถของคนในชุมชนว่าเนื้อหาการอบรมเหมาะสมอย่างไร อยากง่ายเพียงใดจึงจะเหมาะ เรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องหรือจะสามารถต่อยอดได้เหมาะ มีการปฎิบัติ ลงมือทำจริง และนำเสนออย่างครบวงจร ซึ้งอาจจะครั้งเดียวหรือหลายครั้งตามความเหมาะสม อีกอย่างวิทยากรมีส่วนในการจุดประเด็น จุดประกาย จุดแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นได้ ถ้าได้วิทยากรที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ ส่วนคนในชุมชนเองก็ต้องจริงจังในการรับความรู้ นำไปทดลอง ให้เกิดความรู้ ความชำนาญ นำไปสู่อาชีพหรืออื่นๆได้ตามความรู้ที่ได้รับมาให้ได้ รวมทั้งการพัฒนาผู้นำในท้องถิ่นให้มีความรู้ ความสามารถให้ความรู้กับคนในชุมชนอีกทางหนึ่งได้เป็นอย่างดี

4 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน เมื่อมีต้นทุนอยู่แล้วชุมชนก็มีโอกาสสร้างรายได้มากขึ้น ต้องกลับมามองผลิตภัณฑ์ในชุมชนของตน ดึงศักยภาพและเอกลักษณ์ที่มีอยู่ เลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับกำลังความสามารถของชุมชนมาพัฒนา ต่อยอด การบรรจุภัณฑ์การตั้งราคาขายให้เหมาะสมกับตลาด การหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ต้องลงมือทำอย่างรวดเร็วฉับไว เหมาะสมกับเวลาและโอกาส

5 การยกระดับการท่องเที่ยวในชุมชน ชุมชนต้องรู้จักการบริหารจัดการต้นทุนในชุมชนที่อยู่ให้มีคุณภาพ เพิ่มขึ้น พัฒนาด้านการบริการในแหล่งท่องเที่ยว การต้อนรับแขก ความสะอาด ขยะสิ่งแวดล้อมต่างๆ การบริการด้านอาหาร ให้ถูกสุขลักษณะ อร่อย ควบคุณภาพ รู้จักการบริหารต้นทุน กำไร การตั้งราคาที่เหมาะสม รู้จักการออกแบบกิจกรรม โปรแกรมการท่องเที่ยว และเสน่ห์ของชุมชนที่ขาดไม่ได้คือ การรักษาวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ และสามารถขายได้เสมอ

6 ผู้นำ อาสาสมัคร มีส่วนในการกระตุ้นการรวมกลุ่มคนในชุมชนให้มาร่วมการทำกิจกรรม จัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมแก่ทุกคนที่มาร่วมทำกิจกรรมแต่ละอย่าง แต่ละชนิดที่เกิดขึ้น เป็นคนที่เสียสละจริงๆ มีวิสัยทัศน์ ที่สามารถมองการพัฒนาชุมชนไปข้างหน้าได้ รู้จักการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆทั้งในชุมชน นอกชุมชนได้เป็นอย่างดี

ทั้ง 6 ประเด็นที่กล่าวมาคงพอเป็นแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชนให้ยั้งยืนได้ไม่มากก็น้อยนะครับ

ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page